Translate

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

อุปราคาในปี 2558


3 มกราคม 2558
จันทรุปราคาเต็มดวง 16 กันยายน 2540 (ภาพ – กฤษดา โชคสินอนันต์/พรชัย อมรศรีจิรทร)
พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้ครั้งเดียวจากอุปราคาทั้งหมด 4 ครั้ง ดังต่อไปนี้
  1. สุริยุปราคาเต็มดวง 20 มีนาคม 2558
  2. จันทรุปราคาเต็มดวง 4 เมษายน 2558
  3. สุริยุปราคาบางส่วน 13 กันยายน 2558
  4. จันทรุปราคาเต็มดวง 28 กันยายน 2558

1. สุริยุปราคาเต็มดวง 20 มีนาคม 2558

วันที่ 20 มีนาคม 2558 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มิดหมดดวง แนวคราสเต็มดวงผ่านตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอาร์กติก โดยผ่านหมู่เกาะแฟโรของเดนมาร์กและหมู่เกาะสฟาลบาร์ของนอร์เวย์ บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ทวีปยุโรป ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ตอนเหนือของแอฟริกา และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชีย ประเทศไทยไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้
แม้จะเกิดในเวลากลางวันตามเวลาประเทศไทย แต่เราไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้ เนื่องจากเงาดวงจันทร์ผ่านใกล้ขั้วโลกเหนือ สุริยุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวแตะผิวโลกในเวลา 14:41 น. จากนั้นเงามืดเริ่มแตะผิวโลกในเวลา 16:10 น. ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก เงามืดเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก และวกขึ้นเหนือ ผ่านทะเลที่อยู่ระหว่างไอซ์แลนด์กับสหราชอาณาจักร บริเวณนี้มีแผ่นดินของหมู่เกาะแฟโร (เขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก) อยู่ในแนวคราส ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนานราว 2 นาทีเศษ ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 20°
กึ่งกลางคราส (Greatest eclipse) ซึ่งเป็นเวลาที่ศูนย์กลางเงาดวงจันทร์ผ่านใกล้ศูนย์กลางโลกมากที่สุด เกิดขึ้นเวลา 16:45:39 น. ตรงบริเวณรอยต่อระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับทะเลนอร์เวย์ เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่กึ่งกลางนาน 2 นาที 47 วินาที เงามืดเคลื่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านหมู่เกาะสฟาลบาร์ของนอร์เวย์ ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่กลางคราสนาน 2 นาทีครึ่ง ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 10-11° จากนั้น เงามืดเข้าสู่มหาสมุทรอาร์กติก แล้วออกจากผิวโลกบริเวณขั้วโลกที่เวลา 17:21 น. สุริยุปราคาครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อเงามัวของดวงจันทร์ออกจากผิวโลกในเวลา 18:50 น.

2. จันทรุปราคาเต็มดวง 4 เมษายน 2558

หัวค่ำของวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558 เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง โดยเริ่มสัมผัสเงามืด หรือดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 17:16 น. ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่เห็นเนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดหมดทั้งดวงระหว่างเวลา 18:58-19:03 น. จึงเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนานเพียง 5 นาที ประเทศไทยเห็นดวงจันทร์ขึ้นขณะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน และเมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง บริเวณกรุงเทพฯ เห็นดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเพียง 7° และท้องฟ้ายังมีแสงสนธยา หากมีเมฆหรือหมอกควันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก อาจทำให้สังเกตได้ยาก จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงาโลก กลับมาสว่างเต็มดวงในเวลา 20:45 น. โดยอยู่ที่มุมเงย 31°
จันทรุปราคาครั้งนี้เห็นได้เกือบทั่วทั้งเอเชีย ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ (ตรงกับเวลาเช้ามืดของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น) ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 4 เมษายน 2558
  1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 16:01:24
  2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 17:15:44
  3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 18:57:30
  4. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด 19:00:15
  5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 19:03:02
  6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 20:44:48
  7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 21:59:02

3. สุริยุปราคาบางส่วน 13 กันยายน 2558

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน 2558 เกิดสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งแม้จะเกิดในเวลากลางวันตามเวลาประเทศไทย แต่เราไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้ เนื่องจากเงาดวงจันทร์ผ่านผิวโลกในซีกโลกใต้
สุริยุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์แตะผิวโลกในเวลา 11:42 น. กึ่งกลางคราสเกิดขึ้นเวลา 13:54 น. จุดที่เห็นดวงอาทิตย์แหว่งลึกที่สุดอยู่ในมหาสมุทรใต้ ใกล้ชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา โดยดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ 78.7% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ สิ้นสุดสุริยุปราคาเมื่อเงามัวออกจากผิวโลกในเวลา 16:06 น. บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนคือตอนใต้ของทวีปแอฟริกา บางส่วนของแอนตาร์กติกา และตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย

4. จันทรุปราคาเต็มดวง 28 กันยายน 2558

เวลากลางวันของวันจันทร์ที่ 28 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งนับเป็นครั้งสุดท้ายของจันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้น 4 ครั้ง ติดต่อกัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ประเทศไทยไม่เห็นจันทรุปราคาในวันนี้ บริเวณที่เห็น ได้แก่ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป แอฟริกา และด้านตะวันตกของเอเชีย
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 28 กันยายน 2558
  1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 07:11:45
  2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 08:07:11
  3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 09:11:10
  4. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด 09:47:08
  5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 10:23:06
  6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 11:27:05
  7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 12:22:31                
บรรณานุกรม    วรเชษฐ์ บุญปลอด. (2548). ดาวหางเลิฟจอย (C/2014 Q2 Lovejoy). เข้าถึงได้จาก.http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/2015eclipses.html
(วันที่ค้นข้อมูล:11/1/2558)                                                                            

ดาวหางเลิฟจอย (C/2014 Q2 Lovejoy)


26 ธันวาคม 2557
เทอร์รี เลิฟจอย (Terry Lovejoy) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลีย ค้นพบดาวหางดวงนี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2557 ในภาพถ่ายซีซีดีซึ่งบันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 20 เซนติเมตร ดาวหางดวงนี้เป็นดวงที่ 5 ที่เขาค้นพบ ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซี/2014 คิว 2 (C/2014 Q2) ขณะนั้นอยู่ในกลุ่มดาวท้ายเรือ สว่างที่โชติมาตร 15
ก่อนหน้านี้ ดาวหางที่เขาค้นพบเป็นดวงที่ 3 และทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือดาวหางที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซี/2011 ดับเบิลยู 3 (C/2011 W3) เป็นดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ที่สว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อปลายปี 2554 แต่อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ดีที่สุดในซีกโลกใต้ ไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย
ดาวหางเลิฟจอยดวงที่ค้นพบล่าสุดนี้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558 ที่ระยะห่าง 1.29 หน่วยดาราศาสตร์ (193 ล้านกิโลเมตร) จุดนั้นอยู่ระหว่างวงโคจรของโลกกับดาวอังคาร แม้จะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ค่อนข้างมาก แต่ดาวหางอยู่ในตำแหน่งที่ดีสำหรับการสังเกตการณ์จากโลก ดาวหางเลิฟจอยเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 7 มกราคม 2558 ห่างโลกประมาณ 0.469 หน่วยดาราศาสตร์ (70 ล้านกิโลเมตร)
ข้อมูลในช่วงแรกที่ค้นพบแสดงว่าปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558 ดาวหางเลิฟจอยจะสว่างที่สุดราวโชติมาตร 8 ซึ่งไม่ถึงกับเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่การสังเกตการณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2557 ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ล่าสุดมีแนวโน้มว่าเมื่อสว่างที่สุดในเดือนมกราคม 2558 อาจสว่างราวโชติมาตร 4 ซึ่งหากทราบตำแหน่งที่แน่นอน และสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท สามารถเห็นได้ง่ายด้วยกล้องสองตา และพอจะเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า
ผลการพยากรณ์ความสว่างของดาวหางเลิฟจอยล่าสุดแสดงว่าดาวหางอาจสว่างกว่าโชติมาตร 6 ตลอดช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ช่วงดังกล่าว ดาวหางเปลี่ยนตำแหน่งไปอย่างรวดเร็ว ผ่านกลุ่มดาวนกเขา กระต่ายป่า แม่น้ำ วัว แกะ สามเหลี่ยม และแอนดรอเมดา (ดูแผนที่) คาดว่าจะสว่างที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนมกราคม 2558 ด้วยโชติมาตร 4 และน่าจะมีหางยาวที่สุดในช่วงนี้
หลังจากนั้น ความสว่างของดาวหางเลิฟจอยควรจะลดลง พร้อมกับเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวเพอร์ซิอัสและเข้าสู่กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย อาจจางลงถึงโชติมาตร 7 ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ และถึงโชติมาตร 8 ในกลางเดือนมีนาคม (การคาดหมายความสว่างของดาวหางอาจคลาดเคลื่อนได้)
ดาวหางเลิฟจอยมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีที่มีความรีสูง วงโคจรที่คำนวณได้ ณ กลางเดือนธันวาคม 2557 แสดงว่าดาวหางดวงนี้อาจเคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาแล้วเมื่อราว 11,500 ปีก่อน และหลังจากปี 2558 อาจกลับมาอีกครั้งในอีกราว 8,000 ปี

ตำแหน่งดาวหาง

แผนที่ตำแหน่งดาวหางเลิฟจอยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2557 ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลงตำแหน่ง ณ เวลา 22:00 น. ของทุกวัน (สามารถสังเกตได้ในเวลาก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้น โดยดูการขึ้น-ตกของดาวหางด้วยการคาดคะเนจากแผนที่ฟ้าแบบหมุนของสมาคมดาราศาสตร์ไทย) แผนที่นี้ทิศเหนืออยู่ด้านบน ด้านซ้ายมือคือทิศตะวันออก ดวงอาทิตย์อยู่ห่างไปทางขวามือด้านล่าง (นอกกรอบแผนที่) หางของดาวหางเลิฟจอยจึงมีแนวโน้มชี้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือด้านบน ตัวเลขที่ขอบแผนที่แสดงเส้นพิกัดศูนย์สูตร (ไรต์แอสเซนชัน-เดคลิเนชัน) - คลิกรูปเพื่อดาวน์โหลดแผนที่สำหรับพิมพ์ลงกระดาษ
แผนที่ท้องฟ้า
ตำแหน่งดาวหางบนแผนที่ท้องฟ้าเดือนมกราคม 2558


บรรณานุกรม วรเชษฐ์ บุญปลอด. (2548). ดาวหางเลิฟจอย (C/2014 Q2 Lovejoy). เข้าถึงได้จาก.http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/comets/c2014q2.html
(วันที่ค้นข้อมูล:11/1/2558)